วัฒนธรรมการใช้ “พวงหรีด”

“พวงหรีด” จากตะวันตกสู่ไทย แพร่หลายเข้าสู่สยามเมื่อใด? (1)

  ที่มา :  ศิลปวัฒนธรรม silp-mag.com  การรับ-ปรับวัฒนธรรม “พวงหรีด” จากตะวันตกสู่ไทย แพร่หลายเข้าสู่สยามเมื่อใด? (silpa-mag.com)

wreath-พวงหรีด-article

คนไทยคุ้นชินกับ “พวงหรีด” ว่าใช้เป็นสิ่งแสดงความเคารพต่อผู้เสียชีวิตในงานศพ สอดคล้องกับที่ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมาย

ของ “พวงหรีด” ว่า “ดอกไม้ที่จัดแต่งขึ้นตามโครงรูปต่าง ๆ เช่น วงกลม วงรี สำหรับใช้เคารพศพ, หรีด ก็เรียก.” แต่ในอีกมุมหนึ่ง พวงหรีดในวัฒนธรรมตะวันตก (ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรมพวงหรีด) ยังได้ใช้เป็นสิ่งแสดงความยินดีและการเฉลิมฉลอง

อิทธิพลตะวันตกสู่ไทย

คำว่า “พวงหรีด” เป็นการเรียกทับศัพท์จากภาษาอังกฤษคือ “Wreath” ปรากฏรูปแบบการทำ “หรีด” สืบย้อนไปถึงสมัยอียิปต์โบราณ พบว่ามีการนำผ้าลินินมาทำเป็นเครื่องสวมศีรษะ ในสมัยกรีกโบราณก็มีการทำ “หรีด” จากมะกอก สน ขึ้นฉ่ายฝรั่ง หรือปาล์ม เป็นรางวัลสำหรับนักกีฬาที่ได้รับชัยชนะในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกหรือเป็นรางวัลให้กับกวี นอกจากนี้คู่รักหนุ่มสาวในสมัยกรีกโบราณมักแขวน “หรีด” ไว้

หน้าประตูเพื่อเป็นสัญญาณแห่งความรัก ในสมัยโรมันก็ให้ความสำคัญกับ “หรีด” เช่นเดียวกัน พวกเขาถือว่าสิ่งนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจและชัยชนะที่จะมอบให้กับนายทหารที่ได้รับชัยจากสงคราม

พวงหรีดในความหมายปัจจุบันคือดอกไม้และใบไม้ที่นำมาจัดวางตามโครงรูปต่างๆ เช่น วงกลมหรือวงรี ใช้เพื่อวัตถุประสงค์หลายประการ ในวัฒนธรรมตะวันตกจะใช้พวงหรีดทั้งในงานมงคลและอวมงคล

งานมงคลในวัฒนธรรมตะวันตกอย่างเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งถือเป็นเทศกาลที่เปลี่ยน “หรีด” ในคติยุคโบราณ ให้เป็น “พวงหรีด” ยุคใหม่ตามอิทธิพลของศาสนาคริสต์ ซึ่งชาวตะวันตกจะแขวนพวงหรีดประดับบ้านเรือนหรือต้นคริสต์มาส โดยสื่อความหมายถึงความเชื่อศาสนาว่า วงโค้งหรือวงกลมของหรีด หมายถึง ความสมบูรณ์อันศักดิ์สิทธิ์ และพระเจ้าที่ทรงเป็นนิรันดร์ เนื่องจากรูปร่างของพวงหรีดไม่มีจุดเริ่มต้นหรือสิ้นสุด ส่วนดอกไม้ ใบไม้ และของตกแต่ง เช่น ถั่ว ลูกสน หมายถึง ความยั่งยืนของชีวิต และเป็นสัญลักษณ์การฟื้นคืนชีวิต

วัฒนธรรมพวงหรีดในตะวันตกถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับประเพณีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลคริสต์มาส โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากยุโรปเหนือและตะวันออก ก่อนจะแพร่หลายในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะการแต่งงานของสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรกับเจ้าชายอัลเบิร์ตจากเยอรมนี ซึ่งทำให้วัฒนธรรมและประเพณีในเทศกาลคริสต์มาสจากยุโรปส่วนอื่น ๆ เข้าสู่อังกฤษจนเป็นที่นิยม ในทางกลับกันวัฒนธรรมอังกฤษก็ส่งอิทธิพลต่อไปยังวัฒนธรรมอเมริกันเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ วรรณกรรมเรื่อง A Visit From St. Nicholas ของ Clement Clarke Moore ซึ่งมีเรื่องราวเกี่ยวกับค่ำคืนก่อนวันคริสต์มาส ก็มีส่วนกระตุ้นให้การตกแต่งพวงหรีดในเทศกาลคริสต์มาสเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย

สำหรับพวงหรีดในงานอวมงคลในวัฒนธรรมตะวันตกก็มีลักษณะเช่นเดียวกับวัฒนธรรมไทย คือใช้เป็นสิ่งแสดงความเคารพผู้เสียชีวิต เป็นการไว้อาลัย และแสดงความโศกเศร้า เดิมทีนั้น ในวัฒนธรรมตะวันตกจะใช้พวงหรีดแห้งที่ตัดแต่งรูปดอกไม้ใบไม้จากกระดาษ และประดับด้วยริบบิ้น ก่อนจะพัฒนาเป็นพวงหรีดดอกไม้สดในภายหลัง

Royal-Wreath-King Rama V
ภาพ: พวงหรีดหน้าพระโกศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ปักพระปรมาภิไธยย่อ จปร

เหตุที่พวงหรีดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมไทย เฉพาะแต่งานอวมงคลเพียงอย่างเดียวนั้น รุจิราภา งามสระคู อธิบายว่า “เมื่อรับพวงหรีดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธรรมเนียม คนไทยมิได้ใช้ในสองวาระเช่นชาวตะวันตก แต่นำมาใช้เฉพาะในงานอวมงคลเพื่อแสดงความไว้อาลัยและหรือนำไปสักการะรูปปั้นผู้ล่วงลับ คงเนื่องจากคนไทยนับถือศาสนาพุทธย่อมไม่มีเทศกาลเฉลิมฉลองตามแบบแผนของศาสนาคริสต์ จึงเลือกใช้ในพิธีกรรมที่ไม่ขัดกับคติความเชื่อทางศาสนา”

  อ่านต่อ :  “พวงหรีด” จากตะวันตกสู่ไทย แพร่หลายเข้าสู่สยามเมื่อใด? (2)

  ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม silp-mag.com  การรับ-ปรับวัฒนธรรม “พวงหรีด” จากตะวันตกสู่ไทย แพร่หลายเข้าสู่สยามเมื่อใด? (silpa-mag.com)